เรา

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ดอกบัวแดง

หนาวที่ผ่านมา หนองหาน - สถานที่ทางธรรมชาติอันแสนสงบแห่งหนึ่ง นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ในดวงใจ นอกจากความรู้สึกว่าได้พักใจ หลีกลี้จากความวุ่นวาย "ทะเลบัวแดง"--ผืนน้ำอันกว้างใหญ่ดารดาษด้วยดอกบัวแดง ยังทำให้ความรู้สึกเป็นสุขนั้นประทับอยู่ในใจ...
หนองหาน เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของ จ. อุดรธานี มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลกว่า 2 หมื่นไร่ หรือราว 300 เท่าของสนามหลวง กินพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัด คือ อ. กุมภวาปี อ. หนองหาน อ. ประจักษ์ศิลปาคม และ อ. กู่แก้ว รอบหนองหานมีหมู่บ้านรายล้อมกว่า 60 หมู่บ้าน หนองหานจึงเป็นที่หาอยู่หากินของชาวบ้าน และที่สำคัญคือเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำปาว ลำน้ำสำคัญที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนใน จ. อุดรธานี และไกลไปถึงคนปลายน้ำที่ อ. กมลาไสย จ. กาฬสินธุ์

หนองหาน ยังเกี่ยวโยงกับตำนานพื้นบ้าน ผาแดง-นางไอ่ ที่คนอุดรธานีรวมทั้งคนอีสานรู้จักกันเป็นอย่างดี

คนอุดรโดยเฉพาะคนรอบหนองหานคุ้นเคยกับตำนาน ผาแดง-นางไอ่ รวมไปถึงพญานาค อันเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้เกิดหนองหาน เรื่องมีอยู่ว่า นางไอ่ ธิดาของเจ้าเมืองขอม เป็นผู้มีสิริโฉมงดงามเป็นที่หมายปองของเจ้าชายเมืองต่างๆ ครั้งหนึ่งบ้านเมืองเกิดความแห้งแล้ง เจ้าเมืองขอมจึงจัดให้มีการแข่งขันจุดบั้งไฟเพื่อขอฝนจากพญาแถนผู้เป็นเจ้าแห่งฟ้าฝน หากบั้งไฟของใครขึ้นสูงที่สุด พระองค์จะยกธิดาให้ ในการแข่งขันนั้นมีเจ้าชายมาร่วมหลายเมือง รวมถึงท้าวภังคี โอรสของท้าวนาคราชในนครบาดาล ที่ปลอมตัวเป็นมนุษย์

ในที่สุดผู้ชนะก็คือท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง ท้าวภังคีโอรสของท้าวนาคราชไม่พอใจผลการแข่งขัน จึงปลอมตัวเป็นกระรอกเผือกเข้ามาในสวนดอกไม้ของนางไอ่ นางไอ่ซึ่งเกิดนึกอยากกินเนื้อกระรอกเผือกก็สั่งให้นายพรานไปยิงกระรอกเผือกตัวนั้นมา ท้าวภังคีหรือกระรอกนั้นไม่พ้นเงื้อมมือนายพราน ก่อนตายท้าวภังคีได้อธิษฐานว่า ใครที่กินเนื้อของตนขอให้จมน้ำตายในบาดาล เมื่อนางไอ่นำเนื้อกระรอกเผือกมาปรุงอาหารและแจกจ่ายไปทั่วเมือง ในคืนนั้นก็เกิดพายุฝน แผ่นดินไหว น้ำท่วมพัดพาผู้คนลงสู่ท้องบาดาล

ฝ่ายท้าวนาคราชซึ่งพิโรธที่โอรสถูกฆ่าตาย จึงพานาคจากเมืองบาดาลมาอาละวาดถล่มเมืองขอมจนพินาศสิ้น ท้าวผาแดงเห็นดังนั้นก็พานางไอ่ควบม้าหนีไปได้ทางทิศเหนือ ส่วนวิญญาณของท้าวภังคีก็วนเวียนมาทวงความแค้นกับท้าวผาแดงและนางไอ่ตลอดทุกชาติ บริเวณเมืองขอมที่พวกนาคถล่มจนจมลงสู่บาดาลได้กลายเป็นหนองหาน เพื่อเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณชาวเมืองขอมผู้ประสบเคราะห์กรรมในครั้งนั้น ประชาชนรอบหนองหานจึงสร้างเจดีย์ วัด และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น คือพระธาตุต่างๆ ที่ตั้งอยู่ใน อ. กุมภวาปี อันได้แก่ พระธาตุดอนแก้ว พระมหาธาตุเจดีย์ และศาลท้าวผาแดง ใน ต. กุมภวาปี พระธาตุดอยหลวง ต. พันดอน พระธาตุบ้านเดียม ต. เชียงแหว และพระธาตุจอมศรี ต. แชแล





หนองหานเป็นแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำ นก ปลา นานาชนิด ช่วงฤดูหนาวหนองหานจะงามตระการด้วยดอกบัวแดงนับล้านที่พากันชูช่อให้เราได้ชื่นชมความงาม มองดูราวกับผืนพรมสีชมพูปูลาดบนผิวน้ำกว้างไกลสุดสายตา บัวมี 2 ประเภท คือ "อุบลชาติ" หรือบัวสาย และ "ปทุมชาติ" หรือบัวหลวง ในแต่ละประเภทยังแบ่งแยกย่อยได้อีกหลายชนิด บัวแดงที่เห็นอยู่ในหนองหานเป็นหนึ่งในประเภทอุบลชาติ เรียกกันว่าบัวสัตตบรรณ หรือรัตตอุบล เป็นบัวสายชนิดหนึ่งที่บานในตอนกลางคืน ทั้งดอกสีแดงอมชมพูนั้นยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ด้วย การผลิบานของบัวแดงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ วันไหนแสงแดดน้อย อากาศเย็น บัวแดงจะบานอยู่นานถึงบ่ายแก่ๆ เลยทีเดียว

การชมทะเลบัวแดงครั้งนี้ เราเริ่มด้วยการเฝ้ารอพระอาทิตย์ดวงกลมโตค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้าอยู่ที่ริมฝั่งท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ก่อนลงเรือล่องหนองหานไปกว่า 7 กม. เพื่อสัมผัสบัวแดงอย่างใกล้ชิด ยิ่งไกลออกไป บัวแดงก็ยิ่งหนาแน่น บรรยากาศแสนสงบ อากาศแสนบริสุทธิ์ ณ ที่แห่งนี้ พาความอิ่มเอมและสุขใจมาสู่ทุกคนถ้วนทั่ว ขณะเครื่องยนต์ท้ายเรือกำลังทำงาน แผ่นน้ำสะเทือนเป็นระลอกคลื่น เหล่าแมลงที่เกาะอยู่ตามกอบัวต่างตกใจกระโดดหนีขึ้นเหนือผิวน้ำ ในระหว่างทางเรายังได้เห็นทั้งนกปากห่าง นกคู้ต นกอีโก้ง นกแซงแซว บินล้อเล่นกับสายลม ดูน่าเพลิดเพลิน...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น